ธรรมะกับกฏหมาย

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ขั้นตอนการบัญญัติพระวินัย เปรียบเทียบกับการขั้นตอนบัญญัติกฏหมาย ตอนจบ



การประกาศใช้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเปรียบเทียบกับการประกาศพระวินัยและการบังคับใช้พระวินัย
ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันและก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่งนั้น ถ้า

(1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือกระบวนการตรากฎหมายไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า

(2) นายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้หรือกระบวนการตรากฎหมายไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไว้ในมาตรา 38 ว่า

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ร่างพระราชบัญญัติขึ้นสำเร็จแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ท่านให้ใช้เป็นกฎหมายไว้

นับแต่บัดนั้นมา ร่างพระราชบัญญัติที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติอยู่ถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 90 ว่า

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือถือเสมือนว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยตามรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

ราชกิจจานุเบกษาเป็นหนังสือสำคัญของทางราชการในการใช้เป็นสื่อระหว่างรัฐกับประชาชน โดยทำให้ประชาชนได้รับทราบและได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและเรื่องสำคัญต่างๆ ของชาติ จึงมีประโยชน์และมีคุณค่าสูงยิ่งในการศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะฉบับย้อนหลังเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและอ้างอิงได้ในทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ภาษา วรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณี และประวัติบุคคล ฯลฯ หากศึกษาค้นคว้าทั้งระบบจะทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ของชาติทุกด้านในแต่ละยุคสมัย
ด้วยเหตุว่า กฎหมายมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ดังนั้น ประชาชนจะกระทำความผิดกฎหมายโดยอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้  เพราะการไม่รู้กฎหมายมิใช่ว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายจะปิดบัง หรือการเข้าถึงกฎหมายจะยาก แต่เป็นเพราะการไม่ขวนขวายที่จะเรียนรู้กฎหมายของประชาชนผู้อยู่ภายใต้กฎหมายนั้นเอง

หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่บังคับใช้กฎหมาย ในที่นี้ ผู้เขียนขอกล่าวเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพราะเป็นการสอดคล้องกับการบังคับพระวินัยมากกว่ากระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง 

1. องค์กรและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา[1]
            1.1) พนักงานสอบสวนหรือตำรวจ
            พนักงานสอบสวนหรือตำรวจ เป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดองค์กรหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะเป็นหน่วยงานแรกที่รับผิดชอบต่อกระบวนการยุติธรรมก่อนที่คดีหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้น จะผ่านไปยังพนักงานอัยการ และเข้าสู่การพิจารณาของศาล
             ตำรวจเป็นผู้จับกุมผู้กระทำความผิด และทำการรวบรวมพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนแล้วส่งเรื่องหรือสำนวนสอบสวนให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นทนายของ แผ่นดิน ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล เมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวผู้นั้นไว้ในเรือนจำเพื่ออบรม ดัดนิสัย และฝึกอาชีพต่อไป
  
1.2) ทนายความ
            ทนายความเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม คือ เข้ามาว่าความแก้ต่างให้แก่คู่ความไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลย ทนายความเป็นผู้ประกอบอาชีพกฎหมายโดยอิสระ ทนายความจะให้คำปรึกษาหรือดำเนินคดีแทน โดยคิดค่าบริการจากลูกความ ทนายความจึงเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นผู้รู้กฎหมาย และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคู่ความในการดำเนินคดีในศาล การกระทำของทนายในศาลมีผลเท่ากับคู่ความทำเอง
 
 1.3) พนักงานอัยการ
            พนักงานอัยการ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งดำเนินคดีต่อจากพนักงาน สอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้สอบสวนคดีเสร็จแล้ว ก็จะส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ เพื่อฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลต่อไป พนักงานอัยการจึงเปรียบเสมือนทนายของ แผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีในนามของรัฐ
ตำแหน่งพนักงานอัยการในพุทธกาล  หรือตำแหน่งที่ทำหน้าที่คล้ายพนักงานอัยการในพุทธกาลก็ไม่มี
พนักงานอัยการ คือ ทนายแผ่นดิน มีหน้าที่นำคดีที่ผ่านการสอบสวนแล้ว (ม.๑๒๐ ป.วิอาญา) ขึ้นฟ้องต่อศาล พนักงานอัยการจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการในตำแหน่งพนักงานอัยการ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.๒๕๒๑
มาตรา ๒๗ การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งนอกจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ให้ประธาน ก.อ. เสนอ ก.อ. โดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความรับผิดชอบ ประวัติการปฏิบัติราชการของบุคคลนั้น เทียบกับงานในตำแหน่งข้าราชการอัยการที่จะได้รับแต่งตั้งนั้นๆ เพื่อให้ความเห็นชอบก่อน แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิกรรมการอัยการคนหนึ่งคนใดที่จะเสนอ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ในพุทธกาล การนำความขึ้นทูลฟ้องพระพุทธเจ้า เกิดจากภิกษุผู้ได้รับความเสียหายนำความขึ้นทูลฟ้องเอง หรือ เมื่อภิกษุใดได้ยินว่าชาวบ้านติเตียนภิกษุรูปใดก็จะนำความขึ้นฟ้องพระพุทธเจ้า จากการศึกษา ไม่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งภิกษุรูปใดเป็นพิเศษเพื่อทำหน้าที่ต่างพระเนตร พระกรรณ ดังนั้น ตำแหน่งพนักงานอัยการหรือที่มีหน้าที่คล้ายพนักงานอัยการจึงไม่มี
             1.4) ศาลยุติธรรม
            ศาลเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาชี้ขาดคดีหรหือตัดสินคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ศาลแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
             ก. ศาลชั้นต้น คือ ศาลที่จะเริ่มพิจารณาอรรถคดีเป็นเบื้องแรก ศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา สำหรับในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ศาลอาญาธนบุรี และศาลอาญา ส่วนในจังหวัดอื่นได้แก่ ศาลแขวง ศาลจังหวัด และศาลคดีเด็กและเยาวชน
            ข. ศาลอุทธรณ์ คือ ศาลซึ่งวินิจฉัยข้อผิดพลาด หรือข้อขาดตกบกพร่องของศาลชั้นต้น เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในกระบวนวิธีพิจารณาอรรถคดี ศาลอุทธรณ์นั้นเดิมมีอยู่ศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ปัจจุบันได้ขยายออกไปอีก 9 ศาล คือ ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 – 9
            ค. ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดของศาลในระบบศาลยุติธรรม มีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยความบกพร่อง หรือข้อผิดพลาดในการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์อีกขั้นหนึ่ง
 1.5) กรมราชทัณฑ์
             เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเกือบทุกขั้นตอน โดยทำหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในระหว่างการดำเนินคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นชั้นก่อนศาลพิจารณา ระหว่างการพิจารณา ตลอดจนภายหลังการพิจารณาพิพากษา ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เช่น ควบคุมตัว ปล่อยตัว หรือแม้แต่คำพิพากษาประหารชีวิต ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล เป็นต้น
            อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์ยังมีความรับผิดชอบสำคัญอื่นอีก คือ การฝึกอบรม และแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมขังให้กลับตนเป็นคนดี ด้วยการให้การอบรมทั้งในด้านศีลธรรม และอาชีพ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอกได้ภายหลังได้รับการปล่อยตัวไป
            ในสมัยพุทธกาล  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยแล้ว พระวินัยนั้นจะถูกถ่ายทอดต่อกันด้วยมุขปาฐะ เป็นอันว่า ภิกษุสงฆ์ศิษย์สำนักต่างๆ  ในพุทธศาสนาจะได้ทราบพระวินัยนั้นทั้งหมด และจะต้องถือปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด  หากมีการกระทำอันเป็นการผิดต่อพระวินัย จะมีพระวินัยธร ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาตัดสินคดี โดยปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้กระทำความผิด
            พระวินัยธร คือ ผู้ทรงวินัย มีหน้าที่พิจารณาอธิกรณ์ ในปัจจุบันก็คือผู้พิพากษานั่นเอง อนึ่ง ในสมัยพุทธกาล พระอุบาลี เอตทัคคะด้านทรงพระวินัย เป็นหนึ่งในพระวินัยธร
พระวินัยธรที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้[2]
ภิกษุใดรู้วัตถุ วิบัติ อาบัติ นิทาน คำต้น คำหลัง สิ่งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ โดยเสมอและเป็นผู้เข้าใจอาการ ภิกษุผู้เช่นนั้นๆ แลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ควรเลือก.
อนึ่ง ภิกษุใดรู้กรรม อธิกรณ์ และเข้าใจสมถะ เป็นผู้ไม่กำหนัดไม่ขัดเคือง และไม่หลง ไม่ลำเอียง เพราะกลัว เพราะหลง เข้าใจในบัญญัติ ฉลาดในการพินิจ เป็นผู้ได้พรรคพวก มีความละอาย มีกรรมขาว มีความเคารพ ภิกษุผู้เช่นนั้นๆ แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ควรเลือก.
ถ้าเปรียบกับผู้พิพากษา คือ ต้องรู้ สารบัญญัติ วิธีสบัญญัติ การสืบพยาน การไต่สวนหาความจริง จับเท็จพยานได้โดยอาการ รู้วิธีการลงโทษที่เหมาะสม
ในส่วนของพระวินัยธรที่ดี ต้องรู้ในสิ่งเหล่านี้ คือ
ว่าด้วยการรู้วัตถุ
[๑๐๘๘] คำว่า พึงรู้วัตถุ นั้น คือ พึงรู้วัตถุแห่งปาราชิก ๘ สิกขาบท พึงรู้วัตถุแห่งสังฆาทิเสส ๒๓ สิกขาบท พึงรู้วัตถุแห่งอนิยต ๒ สิกขาบท พึงรู้วัตถุแห่งนิสสัคคีย์ ๔๒ สิกขาบท พึงรู้วัตถุแห่งปาจิตตีย์ ๑๘๘ สิกขาบท พึงรู้วัตถุแห่งปาฏิเทสนียะ ๑๒ สิกขาบท พึงรู้วัตถุแห่งทุกกฏทั้งหลาย พึงรู้วัตถุแห่งทุพภาสิตทั้งหลาย.
ว่าด้วยการรู้วิบัติ
[๑๐๘๙] คำว่า พึงรู้วิบัติ คือ พึงรู้ศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาชีววิบัติ.
ว่าด้วยการรู้อาบัติ
[๑๐๙๐] คำว่า พึงรู้อาบัติ นั้น คือ พึงรู้อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสส อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติทุกกฏ อาบัติทุพภาสิต.
ว่าด้วยการรู้นิทาน
[๑๐๙๑] คำว่า พึงรู้นิทาน นั้น คือ พึงรู้นิทานแห่งปาราชิก ๘ สิกขาบท พึงรู้นิทานแห่งสังฆาทิเสส ๒๓ สิกขาบท พึงรู้นิทานแห่งอนิยต ๒ สิกขาบท พึงรู้นิทานแห่งนิสสัคคีย์ ๔๒ สิกขาบท พึงรู้นิทานแห่งปาจิตตีย์ ๑๘๘ สิกขาบท พึงรู้นิทานแห่งปาฏิเทสนียะ ๑๒ สิกขาบท พึงรู้นิทานแห่งทุกกฏทั้งหลาย พึงรู้นิทานแห่งทุพภาสิตทั้งหลาย.
ว่าด้วยการรู้อาการ
[๑๐๙๒] คำว่า พึงรู้อาการ นั้น คือ พึงรู้จักสงฆ์โดยอาการ พึงรู้จักคณะโดยอาการพึงรู้จักบุคคลโดยอาการ พึงรู้จักโจทก์โดยอาการ พึงรู้จักจำเลยโดยอาการ.
ข้อว่า พึงรู้จักสงฆ์โดยอาการ นั้น คือ พึงรู้จักสงฆ์โดยอาการอย่างนี้ว่า สงฆ์หมู่นี้จะสามารถระงับอธิกรณ์นี้ได้โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ หรือไม่หนอ.
ข้อว่า พึงรู้จักคณะโดยอาการ นั้น คือ พึงรู้จักคณะโดยอาการอย่างนี้ว่า คณะนี้จะสามารถระงับอธิกรณ์นี้ได้โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์หรือไม่หนอ.
ข้อว่า พึงรู้จักบุคคลโดยอาการ นั้น คือ พึงรู้จักบุคคลโดยอาการอย่างนี้ว่า บุคคลผู้นี้จะสามารถระงับอธิกรณ์นี้ได้โดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ หรือไม่หนอ.
ข้อว่า พึงรู้จักโจทก์โดยอาการ นั้น คือ พึงรู้จักโจทก์โดยอาการอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้จักตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการ แล้วโจทก์ผู้อื่น หรือไม่หนอ.
ข้อว่า พึงรู้จักจำเลยโดยอาการ นั้น คือ พึงรู้จักจำเลยโดยอาการอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ตั้งอยู่ในธรรม ๒ ข้อ คือ ให้การตามจริงและไม่โกรธ หรือไม่หนอ.
ว่าด้วยรู้คำต้นและคำหลัง
[๑๐๙๓] คำว่า พึงรู้คำต้นและคำหลัง นั้น คือ พึงรู้คำต้นและคำหลังอย่างนี้ว่าท่านผู้นี้ย้ายวัตถุจากวัตถุ ย้ายวิบัติจากวิบัติ ย้ายอาบัติจากอาบัติ ปฏิเสธแล้วกลับปฏิญาณ ปฏิญญาณแล้วกลับปฏิเสธ หรือสับเรื่องอื่นด้วยเรื่องอื่น หรือไม่หนอ.ว่าด้วยการรู้สิ่งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ
[๑๐๙๔] คำว่า พึงรู้สิ่งที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ นั้น คือ พึงรู้เมถุนธรรม พึงรู้อนุโลมแก่เมถุนธรรม พึงรู้บุพพภาคแห่งเมถุน.
ข้อว่า พึงรู้เมถุนธรรม นั้น คือ พึงรู้ความร่วมกันเป็นคู่ๆ.
ข้อว่า พึงรู้อนุโลมแก่เมถุนธรรม นั้น คือ ภิกษุอมองค์กำเนิดของภิกษุอื่น ด้วยปากของตน
ข้อว่า พึงรู้บุพพภาคแห่งเมถุนธรรม นั้น คือ สี สิ่งมิใช่สี การเคล้าคลึงด้วยกายวาจาชั่วหยาบ การบำเรอตนด้วยกาม การยังวรรณะให้เกิด.
ว่าด้วยรู้กรรม
[๑๐๙๕] คำว่า พึงรู้กรรม นั้น ได้แก่ พึงรู้กรรม ๑๖ อย่าง คือ พึงรู้อปโลกนกรรม ๔ อย่าง พึงรู้ญัตติกรรม ๔ อย่าง พึงรู้ญัตติทุติยกรรม ๔ อย่าง พึงรู้ญัตติจตุตถกรรม ๔ อย่าง.
ว่าด้วยรู้อธิกรณ์
[๑๐๙๖] คำว่า พึงรู้อธิกรณ์ นั้น ได้แก่ พึงรู้อธิกรณ์ ๔ คือ พึงรู้วิวาทาธิกรณ์อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ กิจจาธิกรณ์.ว่าด้วยรู้สมถะ
[๑๐๙๗] คำว่า พึงรู้สมถะ นั้น ได้แก่ พึงรู้สมถะ ๗ คือ พึงรู้สัมมุขาวินัย สติวินัย อมูฬหวินัย ปฏิญญาตกรณะ เยภุยยสิกา ตัสสปาปิยสิกา ติณวัตถารกะ.




[1] http://www.oknation.net/blog/print.php?id=534084
[2] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๘  ปริวาร

ขั้นตอนการบัญญัติพระวินัย เปรียบเทียบกับการขั้นตอนบัญญัติกฏหมาย ตอนที่ ๓

  


   การประกาศเจตนารมณ์ของกฎหมายเปรียบเทียบกับการติเตียนอันนำไปสู่การบัญญัติพระวินัย

      เมื่อใดที่ปรากฏว่า กฎหมายไม่ชัดเจน หรือมีช่องว่าง ซึ่งช่องว่างนี้เกิดจากการพัฒนาของคนที่จะพยายามเลี่ยงกฎหมายก็ดี หรือช่องว่างที่เกิดจากการบัญญัติกฎหมายที่ไม่รัดกุมก็ดี จะต้องมีการตีความกฎหมาย  ซึ่งการตีความกฎหมายนี้ ต้องตีความจากเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนั้น

หลักเกณฑ์ในการตีความกฎหมาย[1]
หลักเกณฑ์ในการตีความกฎหมาย อาจแยกเป็น 2 กรณีคือ  การตีความกฎหมายอาญาและการตีความกฎหมายแพ่ง

การตีความกฎหมายอาญา
เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทําหรืองดการกระทําใดเป็นความผิด
และกําหนดโทษไว้ดังนั้น กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด กล่าวคือต้องตีความเฉพาะการกระทําหรืองดเว้นการกระทําเท่าที่ระบุไว้ในกฎหมายเท่านั้นจึงเป็นความผิด ศาลจะตีความกฎหมายอาญาในทางขยายความไปเอาผิดกับการกระทําซึ่งไม่เป็นความผิดมาลงโทษไม่ได้หรือจะตีความย้อนหลังไปลงโทษการกระทําซึ่งขณะกระทําไม่เป็นความผิดไม่ได้เช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันศาลจะตีความไปเพิ่มโทษผู้กระทําความผิดให้รับโทษหนักขึ้นก็ไม่ได้ เช่นการหลอกให้ผู้อื่นส่งแรงงานให้ย่อมไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เพราะแรงงานไม่ใช่ทรัพย์สิน

การตีความกฎหมายแพ่ง
วิธีการตีความตามกฎหมายแพ่ง มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคแรก ความว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ จากบทบัญญัตินี้ แสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่จะต้องตีความนั้นได้แก่กฎหมายลายลักษณ์อักษร และแบ่งการตีความออกเป็น 2 ประการ ได้แก่ การตีความตัวอักษร และการตีความตามเจตนารมณ์ประการหนึ่ง. การตีความตามตัวอักษรประการหนึ่ง เพื่อให้หยั่งทราบความหมายของกฎหมายจากตัวอักษรที่บัญญัติไว้

๑.๑  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ด้วยภาษาธรรมดา ก็ต้องเข้าใจว่ามีความหมายตามธรรมดาของถ้อยคํานั้น ๆ ตามที่บุคคลทั่วไปเข้าใจกัน ในกรณีมีข้อสงสัยว่า ถ้อยคํานั้น ๆ มีความหมายว่าอย่างไร ก็ต้องค้นหาความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ซึ่งศาลมักใช้เป็นหลักในการตีความมาเกือบร้อยปีแล้ว หรือค้นหาจากบทบัญญัติที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ดังกรณีของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งในชั้นต้นร่างขึ้นเป็นภาษาอังกฤษแล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย ตัวอย่าง เช่น คําว่า “แพแปลมาจากคําว่า “floating house” ซึ่งหมายถึงเรือนแพ หรือคําว่า “อสังหาริมทรัพย์แปลมาจากคําว่า “immovable property” ซึ่งแปลว่าทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ หรือ “สังหาริมทรัพย์” แปลมาจากคําว่า “movable property” ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เป็นต้น ที่สําคัญอีกประการหนึ่งคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๑ และ ๒บัญญัติใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ถ้อยคํา สํานวนภาษาไทยเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๖ อาจมีความแตกต่างจากภาษาไทยในปัจจุบันบ้าง ดังนั้น การตีความกฎหมายจึงอาจต้องตีความตามความเข้าใจในขณะบัญญัติกฎหมาย

๑.๒ ในกรณีบทบัญญัติกฎหมายใช้ภาษาเทคนิคหรือวิชาการก็ต้องเข้าใจตามความหมายทางเทคนิคหรือวิชาการนั้นๆ เช่น ศัพท์ทางแพทย์ทางเภสัชกรรม ทางวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรม ก็ต้องเข้าใจตามความหมายตามวิชาชีพนั้น ๆ เป็นต้น

๑.๓ ในกฎหมายเองบางครั้งผู้บัญญัติกฎหมายอาจมีความประสงค์ที่จะให้ถ้อยคําบางคํามีความหมายเฉพาะ หรือมีความกว้างกว่าความเข้าใจของบุคคลทั่วไปจึงอาจมีการกําหนดคําวิเคราะห์ศัพท์หรือบทนิยาม (definition) ไว้ เช่น ในมาตรา ๑ (๕) ของประมวลกฎหมายอาญา คําว่า “อาวุธ” หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ แต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ ดังนั้น ตามคําวิเคราะห์ศัพท์คําว่า อาวุธ จึงหมายถึง(๑) สิ่งซึ่งเป็นอาวุธโดยสภาพ (๒) สิ่งซึ่งไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ แต่ซึ่งได้ใช้ประทุษร้ายแก่ร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ และ (๓) สิ่งซึ่งไม่ใช่อาวุธโดยสภาพแต่เจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่ายกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธข้อพึงระมัดระวัง คือว่า คําวิเคราะห์ศัพท์หรือคํานิยามของกฎหมายใดย่อมใช้ได้เฉพาะกับกฎหมายนั้นเท่านั้น จะนําไปใช้กับกฎหมายอื่นย่อมไม่ได้แนวทางในการค้นหาเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของกฎหมาย ดูได้จากคําปรารภของกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันคําปรารภของกฎหมายมักจะมีข้อความสั้น ๆ ซึ่งไม่สามารถแสดงให้เห็นเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของกฎหมายแต่ประการใด เว้นแต่คําปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ในอดีต รวมทั้งฉบับปัจจุบันได้แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ซึ่งสามารถนําไปใช้ตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ๆ ได้บ้างบางครั้งการค้นหาเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของกฎหมาย อาจดูได้จากบันทึกหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ ตลอดบันทึกของรัฐสภาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น ๆ โดยเฉพาะบันทึกของรัฐสภาในวาระการพิจารณาเรียงมาตราประการสุดท้าย การค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย อาจทราบได้จากหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติอย่างไรก็ตาม ตามปกติการตีความกฎหมายจะต้องเป็นการตีความทั้งตัวอักษรและตามเจตนารมณ์เสียก่อน เพื่อหยั่งทราบความมุ่งหมายอันแท้จริงของกฎหมาย หากการตีความทั้งสองนั้นมีความขัดแย้งกัน ต้องถือเอาการตีความตามเจตนารมณ์เป็นใหญ่

            ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากกฎหมายปัจจุบันและกฎหมายโบราณ เช่น ตามพระราชบัญญัติต่างๆ
ยกตัวอย่าง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙  ซึ่งมีเจตนารมณ์ของกฎหมายระบุไว้ดังนี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ประกาศใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติที่มีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทกำหนดโทษไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และโดยที่การค้าประเวณีมีสาเหตุสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม ผู้กระทำการค้าประเวณีส่วนมากเป็นผู้ซึ่งด้อยสติปัญญาและการศึกษา สมควรลดโทษผู้กระทำการค้าประเวณี และเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการให้การอบรมฟื้นฟูจิตใจ การบำบัดรักษาโรค การฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตและในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการปราบปรามการค้าประเวณีและเพื่อคุ้มครองบุคคลโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อาจถูกล่อลวงหรือชักพาไปเพื่อการค้าประเวณี สมควรกำหนดโทษบุคคลซึ่งกระทำชำเราโสเภณีเด็กในสถานการค้าประเวณี บุคคลซึ่งหารายได้จากการค้าประเวณีของเด็กและเยาวชน และบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ซึ่งมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการจัดหาผู้อยู่ในความปกครอง ไปเพื่อการค้าประเวณีกับให้อำนาจศาลที่จะถอนอำนาจปกครองของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นเด็กเพราะเหตุที่มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อยู่ในความปกครองกระทำการค้าประเวณี นอกจากนั้น ในปัจจุบันปรากฏว่าได้มีการโฆษณาชักชวนหรือแนะนำตัวทางสื่อมวลชนในลักษณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องการติดต่อในการค้าประเวณีกันอย่างแพร่หลาย สมควรกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
            เมื่อย้อนกลับไปดูในอดีต การค้าประเวณีไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายและไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม เพราะมิเช่นนั้น คงไม่มีโสเภณีที่บรรลุพระอริยบุคคลในขั้นต่างๆ [2] ในสมัยพุทธกาล มีหญิงโสเภณีที่บรรลุอรหันตผลหลายท่านด้วยกัน นอกจากนางสิริมาที่บรรลุโสดาบันแล้ว ได้แก่
๑) นางอัมพปาลี : เกิดใต้ต้นมะม่วงในอุทยานของพระราชาในเมืองไพศาลี ได้รับการเลี้ยงดูจากผู้ดูแลส่วนมะม่วง จึงได้มีชื่อว่า “อัมพปาลี” แปลว่าผู้ดูแลสวนมะม่วง เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาดี และมีความสามารถในด้านดนตรีและนาฏศิลป์ จึงได้หันไปเอาดีในการประกอบอาชีพโสเภณี ครั้งหนึ่ง เธอทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังโกฏิคาม จึงต้องการไปเฝ้าเพื่อฟังธรรม หลังจากได้เฝ้าและฟังธรรมแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหาร ต่อมาเจ้าลิจฉวีได้เข้ามานิมนต์พระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน แต่พระองค์ไม่ทรงรับเพราะได้รับนิมนต์จากนางอัมพปาลีไว้แล้ว ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงให้ความเสมอภาคแก่คนทุกชนชั้นและสาขาอาชีพ มิได้เลือกว่าผู้นิมนต์จะเป็นคนชั้นใด และมิได้ดูถูกบุคคลผู้นั้นประกอบอาชีพโสเภณี ต่อมาเธอได้บวชเป็นภิกษุณีและได้เป็นพระอรหันต์ในที่สุด ต่อมาเธอได้ถวายสวนมะม่วงให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า “อัมพปาลีวัน” อีกด้วย
๒) นางอัฑฒกาสี : เป็นลูกสาวเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ได้เป็นโสเภณีเพราะวิบากกรรมในอดีตชาติต่อมาเกิดเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส ต้องการบวชจึงเดินทางไปยังเมืองสาวัตถี ระหว่างทางนั้นมีพวกนักเลงซุ่มอยู่ จึงไม่สามารถเดินทางไปถึงเมืองสาวัตถีได้ พระพุทธองค์ทรงทราบข่าว จึงทรงอนุญาตให้บวชโดยการส่งทูตไปเป็นตัวแทน เรียกการบวชแบบนี้ว่า “ทูเตนอุปสัมปทา” เธอเป็นภิกษุณีเพียงรูปเดียวที่บวชด้วยวิธีนี้ เมื่อเธอได้บวชเป็นภิกษุณีแล้วปฏิบัติธรรมไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
๓) นางปทุมาวดี : เป็นโสเภณีอยู่ในเมืองอุชเชนี พระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ทรงทราบกิตติศัพท์จึงเสด็จไปเสวยสุขกับเธอ ต่อมาเธอก็ตั้งครรภ์ พระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งว่า หากเด็กในท้องเป็นผู้ชาย เมื่อโตขึ้นให้นำไปเฝ้าที่กรุงราชคฤห์ เธอคลอดลูกเป็นชาย ได้ตั้งชื่อว่า “อภัย” และได้ส่งไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารในเวลาต่อมา พระองค์ทรงเลี้ยงเด็กคนนี้เช่นเดียวกับพระโอรสองค์อื่นๆ ต่อมาอภัยได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา มีโอกาสได้เทศน์โปรดมารดาคือนางปทุมาวดี มารดาได้ฟังแล้วมีศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงได้ออกบวชเป็นภิกษุณีและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา
๔) นางวิมลา : เกิดที่เมืองไพศาลี มารดาเป็นโสเภณี เมื่อโตเป็นสาว วันหนึ่งได้เห็นพระมหาโมคคัลลานะเดินบิณฑบาตอยู่ ได้เกิดหลงรักพระมหาโมคคัลลานะ จึงเดินตามไปจนถึงกุฏิแล้วพยายามหาเรื่องสนทนาด้วยเพื่อยั่วยวนท่าน แต่ท่านเป็นพระอรหันต์จึงไม่หวั่นไหวและทราบเจตนาของเธอ จึงเตือนเธอจนเธอได้สติ เธอรู้สึกอับอายกับพฤติกรรมที่แสดงออกมา จึงเลิกประกอบอาชีพโสเภณีตั้งแต่นั้นมา ต่อมาได้ออกบวชเป็นภิกษุณีและได้บรรลุอรหัตผล

            ในอดีต   ประเทศไทยเราก็เคยเปิดให้มีการค้าประเวณีโดยถูกต้องตามกฎหมาย   นโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีของไทยเพิ่งจะเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์รมหาจุฬาลงกรณ์ โดยพระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง ชื่อ "พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ เหตุผลในการประกาศใช้มีว่า
"...ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า ทุกวันนี้หญิงบางจำพวกประพฤติตนอย่างที่เรียกว่าหญิงนครโสเภณี มีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งโรงหาเงินขึ้นหลายตำบล แต่ก่อนมาการตั้งโรงหญิงนครโสเภณี นายโรงช่วยไถ่หญิงมาเป็นทาสรับตั๋วจากเจ้าภาษีแล้วตั้งเป็นโรงขึ้น ครั้นต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกทาสเสียแล้ว หญิงบางจำพวกที่สมัครเข้าเป็นหญิงนครโสเภณีก็รับตั๋วจากเจ้าภาษีแล้วมีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งขึ้นในท้องที่โรงอันควรบ้างมิควรบ้าง กระทำให้มีเหตุเกิดการวิวาทขึ้นเนือง ๆ อีกประการหนึ่ง หญิงบางคนป่วยเป็นโรคซึ่งอาจจะติดต่อเนื่องไปถึงผู้ชายที่คบหาสมาคมได้ ก็มิได้มีแพทย์ตรวจตรารักษาโรคร้ายนั้น อาจจะติดเนื่องกันไปจนถึงเป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตมนุษย์เป็นอันมาก และยังหาได้มีกฎหมายและข้อบังคับอย่างใดสำหรับจะป้องกันทุกข์โทษภัยแห่งประชาราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้สืบไปดังนี้..."

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ มีว่า หญิงนครโสเภณีให้เป็นได้แต่โดยใจสมัคร ใครจะบังคับผู้อื่นหรือล่อลวงมาให้เป็นหญิงนครโสเภณีมิได้เลย มีโทษตามพระราชกำหนดลักษณะข่มขืนล่วงประเวณี รัตนโกสินทรศก ๑๑๘

แต่ พระราชบัญญัติปราบปรามการค้าประเวณีตามกฎหมายปัจจุบัน มีขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองโสเภณีเด็ก หรือผู้ถูกล่อลวงมาเป็นโสเภณี โดยไม่ได้แยกแยะว่า โสเภณีที่ไม่ใช่โสเภณีเด็ก และเป็นโสเภณีด้วยความสมัครใจ ควรจะถูกแยกไว้ และมีการขึ้นทะเบียน ตรวจโรค จ่ายภาษี เมื่อโสเภณีเป็นอาชีพที่ต้องหลบซ่อน รายได้ของหญิงโสเภณีจึงเป็นรายได้ที่ไม่อยู่ในขอบข่ายแห่งการเสียภาษีด้วย ไม่เป็นไปตามหลักการขยายฐานภาษีที่ดี การขยายฐานภาษีที่ดีต้องเป็นการขยายฐานภาษีในแนวราบ คือนำบุคคลที่อยู่นอกระบบภาษีเข้ามาในระบบภาษีให้มากที่สุด มิใช่การขยายในแนวดิ่งอย่างที่กฎหมายภาษีอากรของเราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ นอกจากนี้เมื่อโสเภณีถูกโกงค่าตัว กลับเรียกร้องอะไรไม่ได้เลย หากนำความเข้าแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ก็จะถูกจับด้วยข้อหาค้าประเวณี  เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป แนวคิดเริ่มเปลี่ยน   จุดเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศไทยหันมาปิดกั้นการค้าประเวณีน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่ม NGO ที่เห็นว่า มนุษย์ไม่ใช่ทรัพย์ ไม่สามารถซื้อขายกันได้ แต่ทั้งนี้ พวกเขาไม่ได้คำนึงว่า หญิงโสเภณีไม่ได้ขายความเป็นมนุษย์ แต่ขายบริการเหมือนช่างตัดผม หมอนวดแผนโบราณ หรือแม้แต่แพทย์ ทนายความ ก็เป็นการขายบริการมิใช่ขายสินค้าแต่อย่างใด

ในสมัยพุทธกาล ก่อนพระพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติพระวินัย จะทรงประกาศเจตนารมณ์ด้วยการติเตียนภิกษุต้นบัญญัติก่อน  การติเตียนเช่นนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ในข้อผิด และเหตุผลที่ไม่ควรกระทำ เพื่อให้เป็นแนวทางแก่พระวินัยธรในการพิจารณาปรับอาบัติตามพระวินัยต่อไป ยกตัวอย่างเช่น
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า[3] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีถุลลนันทารู้อยู่ว่าภิกษุณีล่วงอาบัติปาราชิก ไฉนจึงไม่โจทด้วยตน ไม่บอกแก่คณะ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยโดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกภิกษุณี จงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่า ดังนี้ พระบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุณีใด รู้อยู่ว่าภิกษุณีล่วงอาบัติปาราชิก ไม่โจทด้วยตน ไม่บอกแก่คณะ ในเวลาที่ภิกษุณีนั้นยังดำรงเพศอยู่ก็ดี เคลื่อนไปแล้วก็ดี ถูกนาสนะแล้วก็ดี ไปเข้ารีดเดียรถีย์เสียก็ดี ภายหลังนางจึงบอกอย่างนี้ว่า แม่เจ้า เจ้าข้า เมื่อก่อนดิฉันรู้จักภิกษุณีนั่นได้ดีทีเดียวว่า นางเป็นพี่หญิง น้องหญิง มีความประพฤติเช่นนี้และมีความประพฤติเช่นนี้แต่ดิฉันไม่โจทด้วยตน ไม่บอกแก่คณะ แม้ภิกษุณีนี้ก็เป็นปาราชิก ชื่อวัชชปฏิจฉาทิกาหาสังวาสมิได้.

การเขียนคำพิพากษา ควรเขียนโดยระบุเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบการวินิจฉัยการกระทำของจำเลยทุกครั้งว่าผิดหรือไม่ผิดด้วยเหตุใด คำพิพากษาเช่นนั้นจึงถือเป็นคำพิพากษาที่เจือสมตามหลักนิติธรรม น้อยนักที่เราจะเห็นคำพิพากษาฎีกาอธิบายการกระทำความผิดของจำเลยว่าผิดหรือไม่ผิดด้วยเหตุผลที่ประกอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ถ้าเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่สำคัญ กฎหมายแต่ละฉบับจะมีการประกาศเจตนารมณ์ไว้เพื่อเหตุผลใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่10848/2553 พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 64 มุ่งหมายที่จะควบคุมผู้ขับรถบนทางหลวงหรือทางสาธารณะ การที่จำเลยขับรถกระบะภายในบริเวณโรงเรียนบ้านคลองสุดซึ่งมิใช่บนทางหลวงหรือทางสาธารณะที่กำหนดให้รถสัญจรไปมา แม้จำเลยจะไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ การกระทำของจำเลยก็ไม่ต้องด้วยองค์ประกอบความผิดดังกล่าว
จะเห็นว่า คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ ศาลฎีกาอาศัยเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อวินิจฉัยการกระทำของจำเลย ซึ่งเป็นการถูกต้องตามระเบียบวิธีการเขียนคำพิพากษา และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาของนักเรียนกฎหมาย




[1] การใช้และการตีความกฎหมาย , Lw 102 , โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
[2] ''พุทธจริยศาสตร์กับปัญหาโสเภณี'' , พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
[3] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ขั้นตอนการบัญญัติพระวินัย เปรียบเทียบกับการขั้นตอนบัญญัติกฏหมาย ตอนที่ ๒






การบัญญัติพระวินัย เปรียบเทียบการตรากฏหมายทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตอนที่ 2

ในบทความแรก ได้กล่าวถึงขั้นตอนการนำข้อติเตียนขึ้นทูลฟ้องพระพุทธเจ้า ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้คือการยื่นร่างกฏหมายเข้าสู่สภานั่นเอง

การบัญญัติพระวินัยเรื่องแรก มีเหตุจากพระสุทินน์ เมื่อได้ออกบวชแล้วได้ไปเสพเมถุนธรรมกับภรรยาเก่าของตน ตามที่พ่อแม่ขอร้อง เพื่อให้มีบุตรไว้สืบสกุล เนื่องจาก พระสุทินน์ไม่ยอมกลับมาเป็นคฤหัสถ์ตามที่พ่อแม่ขอร้อง โดยอ้างว่า ถ้าพระสุทินน์ไม่มีทายาทไว้พวกเจ้าลิจฉวีจะริบทรัพย์สมบัติของครอบครัวไป เนื่องจากหาบุตรผู้สืบสกุลไม่ได้ พระสุทินน์เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีโทษ เพราะสิกขาบทยังมิได้บัญญัติไว้ ทั้งที่ตนไม่ได้มีความเต็มใจจึงได้เสพเมถุนธรรมกับภรรยาเก่าของตน จนนางตั้งครรภ์และได้คลอดบุตรมาชื่อว่า พีชกะ ความด่างพร้อยดั่งกล่าวสะเทือนไปทั่วถึงพรหมโลกด้วยเสียงติเตียนของเหล่าเทวดา แม้ตัวพระสุทินน์เองก็มิได้มีความสบายใจ กลับมีความรู้สึกเดือดร้อนใจ จึงได้ปรึกษาความกับเพื่อนภิกษุ เพื่อนภิกษุต่างพากันติเตียนและนำความขึ้นทูลพระพุทธเจ้า 

พระพุทธเจ้าจึงมีรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ แล้วไต่สวนถามพระสุทินน์ว่าความเป็นเช่นนั้นจริงหรือ พระสุทินน์ก็รับว่า "จริง พระพุทธเจ้าค่ะ"

ในส่วนนี้ ถ้านำมาเทียบกับการบัญญัติกฏหมายสมัยโบราณของเรา จะเห็นได้ชัดในคดีที่โด่งดังในวงนักเรียนกฏหมายคือ คดี "อำแดงป้อมฟ้องหย่านายบุญศรี" โดยเนื้อหาใจความสั้นๆ ว่า อำแดงป้อมฟ้องหย่านายบุญศรีโดยไม่มีสาเหตุ ศาลพิพาษาให้หย่า นายบุญศรีจึงนำความขึ้นร้องทุกข์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ความว่า ตนนั้นหาผิดมิได้ แต่อำแดงป้อมเป็นชู้แล้วยังมาฟ้องหย่าตน ทั้งผู้พิพากษาในคดีนั้นก็เกิดฉันทาคติชอบพออำแดงป้อม จึงพิพากษาให้หย่า พระองค์จึงทรงมีรับสั่งให้ไต่สวนความจริงโดยนำกฏหมายทั้งสามฉบับมาสอบทานกัน

ในขั้นตอนนี้ ถ้าเป็นการบัญญัติกฏหมายในยุคปัจจุบัน เราเรียกว่าขั้น "รับหลักการและแปรญัตติ" คืออยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อแก้ไขหรือลงมติในภายหลังหากเห็นชอบด้วยร่างกฏหมายฉบับนั้นนั่นเอง

ในตอนต่อไป เป็นตอนที่น่าสนใจมาก เพราะครูยังไม่เคยเห็นมีใครกล่าวถึงขั้นตอนนี้ในงานวิชาการต่างๆ หรือการเรียนการสอนในชั้นเรียนของทางพุทธศาสนาเลย คือขั้น "ประกาศเจตนารมณ์ของกฏหมาย" ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการบังคับใช้กฏหมายในภายหลังจะต้องพิจารณาเจตนารมณ์ของกฏหมายประกอบในการตีความด้วยเสมอ และเป็นที่น่าสนใจว่า ขั้นตอนนี้ ไม่มียุคสมัยใดข้ามไปเลย ตั้งแต่พุทธกาลจนถึงปัจจุบัน ครูจะอาศัยคดีพระสุทินน์ และอำแดงป้อม รวมถึงกฏหมายปัจจุบันชี้ให้เห็นชัดในบทความต่อไป /ครูนัท

อ้างอิง
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑
มหาวิภังค์ ภาค ๑ ปาราชิกกัณฑ์ ปฐมปาราชิกสิกขาบท เรื่องพระสุทินน์

ประกาศพระราชปรารภ ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๑ กฏหมายตราสามดวง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศง.๒๕๕๐